Mongkol Lu
เคสยาก
วันนี้มีน้องนักข่าวที่มาสัมภาษณ์ผมเรื่องวางแผนการเงินถามผมว่า
"จากประสบการณ์ของพี่ เคสที่ยากที่สุดในการวางแผนการเงินคืออะไร"
ผมตอบได้เลยว่าเคสที่ยากที่สุดคือ
เคสที่ถึงเวลาที่ต้องใช้เงินแล้วยังไม่เตรียม
รู้สึกไม่ดีเลยเพราะช่วยอะไรเค้าไม่ได้
*จะเกษียณอยู่แล้วแต่ยังไม่เตรียมเงินเพื่อเกษียณ
*พอตรวจพบว่าสุขภาพไม่ดี ก็ค่อยมาวางแผนซื้อประกันสุขภาพ
*ลูกใกล้เรียนจบม.ปลายแล้วเพิ่งรู้ว่า เงินที่มีไม่พอส่งลูกเรียนต่างประเทศ
*อื่นๆอีกมากมาย
อย่างเรื่องเกษียณมีพี่คนนึงรู้ว่าผมเป็นที่ปรึกษาการเงิน
มาบอกผมให้ช่วยดูแผนเกษียณให้หน่อย
ผมถามว่าพี่กะจะเกษียณเมื่อไร
พี่คนนี้บอกผมว่าตอนนี้อายุ 52 อยากเกษียณอีก 3ปีข้างหน้า
ผมถามต่อไปว่าแล้วพี่อยากมีเงินใช้ส่วนตัวเหมือนปัจจุบันเดือนละเท่าไร
50,000 พี่คนนี้ตอบ
คุณรู้ไหมว่าถ้าพี่คนนี้อยากเกษียณในอีก 3ปีข้างหน้าจริง
ต้องมีเงินเท่าไร ณ วันเกษียณ เพื่อจะเบิกใช้ไปตลอดจนถึงอายุ 85
" 15,622,830 บาท !!! "
ผมถามว่าแล้วพี่เตรียมอะไรไว้มั่ง
ก็มีเงินฝากกับธนาคารอยู่ประมาณ 2 ล้าน
ตอนเกษียณน่าจะได้เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกประมาณ 3 ล้าน
แล้วมี LTF อีกนิดหน่อย
ผมบอกได้เลยว่าทำไม่ได้หรอกครับ
เลื่อนเวลาเกษียณออกไป 60 หรือ 65 เถอะ
แล้วอาจต้องลดคุณภาพชีวิตหลังเกษียณลงอีกหน่อย
คุณลองคิดดูสิครับ ว่ามันจะเกษียณได้จริงเหรออีก3ปีอ่ะ
ใกล้จะเกษียณต้องใช้เงินแล้ว
จะเอาเงินไปลงสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมาก
เพื่อเพิ่มโอกาสได้ผลตอบแทนสูงขึ้นก็ไม่ได้
จะตลุยเก็บเงินเยอะๆก็ไม่ไหว
อย่างเคสนี้ต้องเก็บเงินอีกประมาณเดือนละ 270,000 บาท
ซึ่งมากกว่าเงินเดือนอีก
ผลปรากฎว่าเคสนี้คงต้องเลื่อนเวลาเกษียณออกไปอีกนาน
พี่คนนี้ความกังวลฉายขึ้นใบหน้าทันตาเห็น
ทำไมครับที่คนจำนวนมากถึงประมาทกับชีวิตนัก
ทำไมต้องมีการรณรงค์เมาไม่ขับ ทุกช่วงปีใหม่ สงกรานต์
แต่ทุกครั้งก็มีคนตายครั้งละ 300-400ศพ อย่างกับสงคราม
ทำไมต้องมีกฏหมายบังคับให้คนขับขี่มอเตอร์ไซค์ สวมหมวกกันน็อค
ทั้งๆที่เป็นความปลอดภัยของตัวเอง
และก็ยังมีคนสวมหมวกกันน็อกไม่ใช่เพื่อความปลอดภัย แต่เพื่อกันตำรวจ
ทั้งๆที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปัจฉิมโอวาทว่า"อย่าประมาท"
มาตั้ง2,500 กว่าปีมาแล้ว แต่คนก็ยังประมาท
โดยเฉพาะประมาทกับชีวิตตนเอง
ทำยังไงหนอถึงจะไม่ประมาทกัน
สงสัยคงต้องให้พระพุทธเจ้าองค์ต่อไปมาโปรดแล้วมั้งครับ
ถึงจะหายประมาท ... เฮ้อ!