top of page
  • Writer's pictureMongkol Lu

การลงทุนใกล้ตัวที่เรามองข้าม

เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆแต่หลายๆครั้งเรากับมองข้ามที่จะเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และใช้ประโยชน์กับสิ่งนั้นให้เต็มที่ แต่กลับไปเสาะแสวงหาเรื่องไกลตัว ที่บางครั้งเราก็ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์เท่าไหร่การลงทุนก็เช่นกัน ผมเห็นคนหลายๆคนบ่นว่าผลตอบแทนจากการฝากธนาคารน้อยจัง ก็พยายามหาช่องทางที่จะเพิ่มผลตอบแทน หาวิธีให้เงินเติบโตเร็วๆ การที่ออกไปแสวงหาความรู้ ความเข้าในเรื่องการลงทุนเป็นสิ่งที่ดีมากๆครับในยุคนี้ แต่ก็อย่าลืมการออมและการลงทุนใกล้ตัวด้วยเช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพครับ

กองทุนนี้เป็นกองทุนที่คนทำงานในองค์กรต่างๆคุ้นเคย โดนหักเงินจากบัญชีเงินเดือนทุกเดือน แต่จะมีใครรู้อย่าจริงจังไหมว่ากองทุนนี้มีประโยชน์จริงๆอย่างไร บางคนพาลจะอารมณ์เสียทุกครั้ง ที่เห็นในเสตทเมนท์เงินเดือนว่าโดนหักทุกเดือน ทั้งๆที่การที่บริษัทคุณมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทของคุณเป็นเพียงหนึ่งในบริษัทจำนวนที่น้อยมากๆคือ 13,620 บริษัท (ข้อมูลปี2556) จากจำนวนบริษัททุกบริษัทในประเทศที่มีเป็นแสนๆบริษัทที่ไม่มีเหมือนบริษัทของคุณ เอาหล่ะครับเรามาทำความเข้าใจกองทุนใกล้ตัวกองนี้ละกันครับ จะได้เลิกอารมณ์เสียซะทีเวลาโดนหักเงิน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คือ กองทุนที่ลูกจ้างและนายจ้างจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ เพื่อส่งเสริมการออมเงินแบบผูกพันระยะยาวสำหรับลูกจ้าง เพื่อไว้ใช้จ่ายเมื่อยามเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือต้องออกจากงาน เงินที่เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพประกอบด้วยเงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนส่วนหนึ่ง เรียกว่า "เงินหักสะสม" (ที่เราถูกหักทุกเดือนหล่ะครับ) ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สะสมได้ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่า 2% - 15% ของค่าจ้าง และเงินที่นายจ้างจ่ายเพิ่มให้อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสมทบ" ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สมทบเท่ากับหรือมากกว่าเงินหักสะสมของลูกจ้าง (นั่นคือ นายจ้างมีส่วนช่วยลูกจ้างออมเงินด้วย)โดยเงินทั้งสองส่วนทั้งของลูกจ้างและนายจ้างที่ถูกส่งเข้ากองทุนที่ได้รับการบริหารจากบริษัทบริหารจัดการกองทุน โดยนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนตามนโยบายการลงทุนที่ตกลงกันไว้ตอนจัดตั้งกองทุน

สมัยก่อนนโยบายการลงทุนไม่ค่อยมีความคล่องตัวเท่าไรนัก หนึ่งบริษัทอาจจะเลือกนโยบายลทุนของพนักงานทุกคนในบริษัทเหมือนกันหมด ซึ่งก็ไม่ค่อยสมเหตุสมผลหรือไม่เหมาะกับพนักงานแต่ละคนในบริษัทเช่นหากเลือกลงทุนในตราสารหนี้เช่นพันธบัตรเป็นส่วนใหญ่ คนที่อายุน้อยหรือรับความเสี่ยงได้สูงก็จะเสียโอกาสที่จะรับผลตอบแทนที่ดี หากไปเลือกกองทุนที่ลงทุนในตราสารทุนหรือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ คนที่อายุมากใกล้เกษียณหรือคนที่รับความเสี่ยงได้น้อย ก็พลอยจะหัวใจวายเวลาที่หุ้นผันผวน ตอนหลังจึงออกกองที่พนักงานแต่ละคนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนตามความพอใจของแต่ละคนที่เรียกว่า “ระบบลูกจ้างเลือกลงทุน” (Employee’s Choice)

ในเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพผมแนะนำตามนี้ครับ

> หากคุณอายุน้อยมีเวลาลงทุนนานให้เลือกนโยบายลงทุนส่วนใหญ่ในตราสารทุนหรือหุ้นครับ เพื่อโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดี แล้วค่อยไปลดสัดส่วนหุ้นเป็นตราสารหนี้เช่นพันธบัตรมากขึ้นตอนอายุมากขึ้นหรือใกล้เกษียณ

> หากบริษัทให้คุณเลือกจำนวนเงินหักสะสมเข้ากองทุน ให้ยอมหักในจำนวนสูงสุดที่เค้าให้ครับ เพราะเมื่อหักคุณเยอะบริษัทก็ต้องสมทบเยอะด้วยเหมือนกัน

> หากจะลาออกจากงานให้ตรวจสอบเงื่อนไขของการจัดตั้งกองทุนให้ดี เพราะจะมีกำหนดเวลาของอายุงานหรืออายุการเป็นสมาชิกกองทุนที่จะได้เงินในส่วนสมทบและดอกผลในส่วนที่บริษัทสมทบ หากออกก่อนอดนะครับ

> เงินหักสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลได้ โดยนำมาหักลดหย่อนได้โดยรวมกับRMF และกรมธรรม์แบบบำนาญแล้วไม่เกิน500,000 บาท

> หากลาออกก่อนเกษียณคืออายุ 55ปี และเป็นสมาชิกไม่ถึง5ปี เงินส่วนที่บริษัทสมทบและดอกผลจากส่วนที่บริษัทสมทบถือเป็นรายได้ที่จะต้องถูกนำมาคำนวณภาษีรายได้ด้วย โดยมีวิธีคำนวณภาษีแบบนี้

กรณีที่ 1 อายุงานครบ 5 ปีขึ้นไป มีสิทธิที่จะแยกยื่นในใบแนบ และสามารถหักค่าใช้จ่าย 7,000 คูณด้วย อายุงาน (จำนวนปี) เหลือเท่าใด หักค่าใช้จ่ายได้อีกครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือจึงนำมาคำนวณภาษี กรณีที่ 2 อายุงานยังไม่ถึง 5 ปี ไม่มีสิทธิแยกยื่น จะต้องยื่นแบบฯ เป็นเงินได้ตาม ม. 40(1)ทั้งหมด และนำเงินได้มารวมกับเงินได้อื่นในการคำนวณภาษี

  • สำหรับผู้ที่ทุพพลภาพ หรือเกษียณอายุ โดยมีอายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตั้งแต่5 ปีขึ้นไป และเกษียณโดยมีอายุครบ 55 ปี เงินได้ทั้งสามส่วนจะได้รับยกเว้นภาษี

  • การลาออกจากงานไม่ได้หมายความว่า ต้องรีบเอาเงินออกจากกองทุนทันที คุณยังมีสิทธิคงเงินไว้กับกองทุน และเมื่อที่ทำงานใหม่รับเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว คุณก็สามารถโอนเงินจากกองทุนเก่ามาเข้ากองทุนใหม่ ซึ่งจะนับอายุงานและอายุสมาชิกต่อเนื่องได้ และเป็นการเก็บเงินก้อนนี้ไว้เพื่อใช้ในวัยเกษียณจริงๆ

  • หากลาออกจากงานสามารถคงเงินไว้กับกองทุนเดิมโดยเสียค่าธรรมเนียมในการคงอยู่ในกองทุนเดิมประมาณ 500 บาท โดยปัจจุบันหลายกองทุนสามารถคงเงินต่อไปที่กองทุนได้ ซึ่งจะได้ประโยชน์เรื่องภาษีกรณีออกจากงานมาค้าขายหรือไม่อยู่ในระบบภาษีเงินได้แล้ว การนำเงินออกมาช้าไปอีกหนึ่งปี ทำให้เป็นการกระจายรายได้ในการคำนวณภาษี ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีในอัตราสูงหากรวมกับรายได้ปกติในปีที่ออก หรือสามารถเก็บจนครบอายุ 55 ค่อยขายหน่วยลงทุน ทำให้ไม่ต้องมีภาระภาษีใดๆ

นี่คือข้อแนะนำเล็กๆน้อยๆนะครับ เพื่อความเข้าใจในการลงทุนกับการลงทุนที่ใกล้ตัวคุณมากๆ ขะได้เข้าใจและสบายใจเสียที่เวลาเห็นเสตทเมนท์ว่าโดนหักเงิน ขอให้รู้เถอะครับว่าคุณโชคดีกว่าคนทำงานส่วนใหญ่แค่ไหนที่ไม่มีการลงทุนเพื่อการเกษียณที่ดีๆเช่นคุณ


16 views0 comments
bottom of page