"หากวันนี้คุณขาดรายได้
คุณจะมีเงินพอที่จะอยู่ได้กี่เดือนครับ"
ผมมักจะถามคำถามนี้กับน้องๆ
ที่อยากเข้ามาทำงานเป็นที่ปรึกษาการเงินกับผม
งานที่ปรึกษาการเงินรายได้มาจาก
คอมมิชชั่นของสินค้าการเงินที่ใช้ในการวางแผน
และค่าธรรมเนียมในการจัดทำแผนการเงิน
ตอนเริ่มงานใหม่ๆ
ก็เหมือนกับกำลังเริ่มต้นสร้างธุรกิจของตัวเอง
ตลาดยังไม่เป็นที่รู้จัก ความสามารถยังไม่มากพอ
การมีรายได้จึงไม่สม่ำเสมอ
บางเดือนมาก บางเดือนน้อย
การทำงานนี้แล้วต้องกังวลกับการที่ต้องมีรายได้เร็วๆ
สำหรับค่าใช้จ่ายและภาระที่มีอยู่
ทำให้ทำงานได้ไม่ดีพอ
ก็เหมือนกับคนที่กำลังออกมา
ทำธุรกิจของตัวเองทั่วไป
หรือแม้แต่คนที่ทำงานมีรายได้ประจำครับ
ที่ควรถามคำถามนี้ก่อนในการวางแผนการเงิน
คนหลายคนชอบมาปรึกษาผมว่าจะลงทุนอะไรดี
ทำยังไงจะได้ผลตอบแทนดีๆ
พอผมถามว่าเงินที่มีสภาพคล่อง เบิกง่าย ถอนง่าย
เทียบกับค่าใช้จ่ายที่ตัวเองต้องรับผิดชอบต่อเดือน
สามารถทำให้อยู่ได้โดยไม่มีรายได้ ได้กี่เดือน
คำตอบของหลายๆคนยังมีไม่พอที่จะอยู่ได้ 3 เดือน 6 เดือนเลย
ผมจึงแนะนำว่าไปเก็บเงินตรงนี้ให้พอก่อน
ก่อนที่จะคิดถึงเรื่องลงทุนอะไรดี
เงินที่มีสภาพคล่อง 3 – 6เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนนี้
เราเรียกว่า "เงินฉุกเฉิน" หรือ Emergency Cash
เป็นเงินที่คุณต้องมีเผื่อไว้ในกรณีขาดรายได้ชั่วคราว
เช่นตกงาน เปลี่ยนงาน ที่ทำงานหยุดกิจการ
ตามหลักการคุณควรจะเตรียมไว้ให้พออย่างน้อย
ที่จะทำให้คุณอยู่ได้โดยไม่มีรายได้ 3 - 6 เดือน
แต่ก็ไม่ได้ต้องfix ว่าต้อง 3เดือน 6เดือนนะครับ
หากคุณมีแหล่งรายได้หลายๆทาง
หรืองานหรือธุรกิจคุณมั่นคงแน่นอน
คุณก็อาจเตรียมขั้นต่ำ 3เดือนได้
แต่ถ้าคุณมีแหล่งรายได้ทางเดียว
หรือเพื่อความอุ่นใจ
ก็ควรเตรียมไว้ 6เดือนหรือเดี๋ยวนี้ต้องเผื่อ1ปีได้เลย
แต่ถ้าเป็นงานที่อาจขาดรายได้นาน
หากมีปัญหาในงานขึ้น
เช่นนักร้อง นักแสดง นักกีฬาอาชีพ
ก็อาจต้องเตรียมมากกว่า 1 ปีได้เลย
เงินก้อนนี้เก็บที่ไหนครับ
ก็ต้องเก็บในที่ๆเบิกง่าย ถอนง่าย
เช่นบัญชีฝากออมทรัพย์ ฝากประจำ
หรือกองทุนรวมตลาดเงิน
หาเงินเก็บไว้ตรงนี้ก่อนดีไหมครับ
เพราะหากมีตรงนี้แล้วจะได้อุ่นใจ
ไปทำอะไรก็ไม่ต้องกังวล
เมื่อสบายใจ จะไปทำงาน หรือลงทุน
ก็มีโอกาสสำเร็จสูงครับ