1. วัตถุประสงค์ของการทำ
เรื่องนี้บางทีลูกค้าทั่วๆ ไปมักนึกไม่ออก แต่พอสรุปวัตถุประสงค์ใหญ่ๆคือ
- เพื่อคุ้มครองรายได้ครอบครัว หากมีเหตุไม่คาดฝันกับหัวหน้าครอบครัวจำเป็นต้องมีเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลครอบครัวหรือคนข้างหลังได้ต่อไปเหมือนเดิม
- เพื่อคุ้มครองภาระหนี้สิน หากเป็นอะไรไป หนี้สินจะได้ไม่เป็นภาระต่อคนข้างหลัง
- เพื่อเป็นการสร้างสินทรัพย์มรดกที่ง่ายที่สุดให้แก่ลูกหลาน
- เพื่อคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้น
- เพื่อการออมเงินระยะยาว เช่น ทุนการศึกษาสำหรับบุตร กองทุนเกษียณอายุที่ปลอดภัย
2. เลือกแบบประกันที่ตรงกับวัตถุประสงค์ในการทำ
เช่นทุนประกันที่เหมาะสมกับเป้าหมาย ระยะเวลาความคุ้มครอง ระยะเวลาการได้รับเงินคืน กรณีเป็นกรมธรรม์แบบสะสมทรัพย์ สัญญาเพิ่มเติมเช่นค่ารักษาพยาบาลที่เพียงพอกับค่ารักษาที่ต้องการ
3. เบี้ยประกันที่เหมาะสม
หากเป็นกรมธรรม์ที่เน้นความคุ้มครอง เบี้ยประกันต่อทุนประกันก็จะไม่สูงมากนัก หากเป็นกรมธรรม์ที่เน้นความคุ้มครองรวมกับการสะสมเงินหรือการลงทุนเบี้ยก็จะสูงขึ้น เบี้ยประกันที่จ่ายจะต้องเหมาะสมกับวัตถุประสงค์มี่ต้องการ และต้องมั่นใจว่าสามารถส่งได้ตลอดอายุกรมธรรม์เพราะหากส่งไม่ครบหรือเวนคืนก่อนอาจขาดทุนได้
4. ความเป็นมืออาชีพของตัวแทน
ตัวแทนเป็นกลไกสำคัญที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้ที่จะซื้อประกัน ควรเป็นตัวแทนที่มีความรู้ในแบบและเงื่อนไขของประกัน เพื่อที่จะช่วยลูกค้าตัดสินใจเลือกกรมธรรม์ที่เหมาะสมกับความต้องการ เป็นตัวแทนที่มีความรักในงานบริการ มีการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง มีจรรยาบรรณที่ไม่จูงใจลูกค้าด้วยส่วนลด แลก แจก แถม เพราะในที่สุดแล้วลูกค้าที่ซื้อด้วยเหตุผลนี้ก็มักเป็นการซื้อกระดาษปึกหนึ่ง ที่เรียกว่ากรมธรรม์ที่ราคาแพง ไม่ได้มีประโยชน์ที่แท้จริงแก่ตัวเองและครอบครัว
5. เลือกบริษัทประกันมืออาชีพ
การเลือกบริษัทประกันนั้นต้องเลือกบริษัทที่มีระบบการบริการลูกค้าและช่องทางที่ครอบคลุม บริษัทที่เน้นพัฒนาความรู้ ความสามารถของตัวแทน บริษัทที่ไม่ใช้วิธีแย่งลูกค้าและตัวแทนจากบริษัทอื่น บริษัทที่ออกสินค้าที่เน้นประโยชน์ที่แท้จริงของลูกค้าไม่ใช่แค่ยอดขาย
และที่สำคัญอย่าซื้อประกันเพราะเกรงใจ เพราะของแถม เพราะผลตอบแทน คุณกำลังซื้อสิ่งที่สำคัญต่ออนาคตของคนที่คุณรัก และตัวคุณเอง อย่าเอาเหตุผลพวกนี้มาอยู่เหนืออนาคตของคนที่คุณรักและตัวคุณเองเลยครับ