คุณรู้ไหมว่าในวันหนึ่งไม่ว่าคุณหรือผม เราจะต้องตกงานอย่างแน่นอน
แต่อยู่ที่ว่าเราจะตกงานเพราะจำใจตกงานเนื่องจากทำงานไม่ไหว
หรือตกงานเพราะเราตั้งใจที่จะตกงานเท่านั้น
วันเกษียณคือวันที่เราไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลง
แต่เรายังคงมีรายจ่ายและรายจ่ายบางรายการกลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป
เช่นค่ารักษาพยาบาล ค่าดูแลสุขภาพร่างกาย
แต่จากประสบการณ์ที่ผมวางแผนการเงินให้กับบุคคลทั่วไป
ผมพบว่าคนส่วนใหญ่ตื่นตัวเรื่องนี้น้อยเกินไปครับ
บางคนเหลืออีกไม่กี่ปีจะ60แล้ว
เพิ่งคิดจะวางแผนหรือบางคนก็มีเงินที่เก็บสะสมไว้น้อยเกินไป
สถานการณ์เรื่องเกษียณของคนไทยน่าเป็นห่วงมากๆครับ
จากสถิติพบว่าในอีกประมาณ20ปีข้างหน้า
เราจะมีผู้สูงอายุในสัดส่วน1ใน4ของประชากรทั้งประเทศ
ผู้สูงอายุ1คนวันนั้นจะมีคนวัยทำงานดูแลเพียงแค่2คน
แล้วคุณคิดดูนะครับคนที่สูงอายุในวันนั้นคือใครในวันนี้
นอกจากการตื่นตัวที่น้อยและสถานการณ์การเกษียณที่น่าเป็นห่วงแล้ว
อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากๆคือความรู้ทางการเงินของคนไทยที่น้อยมากๆ
พอจะคิดถึงเรื่องเงินก็คิดถึงแต่วิธีถึงวิธีที่จะทำให้รวยง่ายๆรวยเร็วๆ
หรือบางคนก็รู้จักแต่วิธีแค่ฝากธนาคารที่กินดอกเบี้ยที่ต่ำเตี้ยติดดินเท่านั้น
วันนี้เรามาดูวิธีเตรียมเงินเกษียณ
เผื่อพอที่จะช่วยกระตุ้นความรู้เรื่องเกษียณของท่านผู้อ่านกันนะครับ
ก่อนอื่นเรามาดูกันครับว่าตอนเกษียณต้องมีเงินเท่าไร
สมมุติว่าตอนนี้คุณอายุ35 คุณตั้งใจที่จะเกษียณที่อายุ60
โดยมีคุณภาพชีวิตเท่ากับปัจจุบันเดือนละ 20,000บาท
หากอัตราเงินเฟ้อคือ3% ณ วันเกษียณต้องใช้เงินเพิ่มเป็น 502,506บาท
หลังเกษียณหาผลตอบแทนแบบเซฟๆ
สมมุติว่าได้เท่าเงินเฟ้อคือ3% แล้วมีชีวิตหลังเกษียณต่อไปอีก25ปี
กองทุนเกษียณที่คุณต้องมี ณ อายุ60 คือ 12,562,650บาท
หากวันนี้คุณยังไม่ได้เก็บเงินเพื่อเกษียณเลย
สมมุติคุณหาผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวได้ 10%
คุณต้องลงทุนปีละ 116,125บาทถึงจะมีเงินครบตามเป้าหมายนั้น
คราวนี้คุณก็คงต้องมีคำถามอีกว่า10%จะหามาจากไหน
เรามาดูข้อมูลเรื่องการลงทุนก่อนครับ
สินทรัพย์ลงทุนแต่ละอย่างมีผลตอบแทนแตกต่างกัน
แต่ในระยะยาวเป็นสิบๆปีแล้ว
หุ้นยังคงเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด
เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ
แม้ระหว่างทางมีความผันผวนสูง
บางปีก็เป็นบวก บางปีก็ติดลบ
อย่างตลาดหุ้นไทยตั้งแต่เปิดตลาดถึงปัจจุบัน40ปี
ก็มีผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ12%
ถ้าคุณยังไม่มีความรู้หรือความชำนาญเรื่องการลงทุนมากนัก
ผมก็ไม่แนะนำให้คุณไปซื้อหุ้นรายตัว
เครื่องมือการเงินหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนทั่วไปคือกองทุนรวม
ถ้าใครสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วย
ก็ใช้ LTF RMF ได้เลย
ซึ่งนอกจากจะได้สิทธิในการใช้ลดหย่อนภาษีแล้ว
ยังเป็นเครื่องมือการลงทุนระยะยาวที่น่าสนใจอีกด้วย
หากคุณไม่ได้ใช้สิทธิเรื่องภาษี
คุณก็ใช้กองทุนรวมทั่วไป
ตั้งแต่กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น
หรือถ้าไม่อยากเห็นความผันผวนสูงระหว่างทาง
ก็ใช้กองทุนรวมผสม
ที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ในเวลาเดียวกัน
ผมแนะนำให้คุณลองเข้าไปดูข้อมูลกองทุนรวมต่างๆ
จากเวป morningstarthailand.com ดูนะครับ
แล้วถ้าบางคนอายุ45แล้วยังไม่ได้วางอะไรเลยหละทำยังไงดี
ก็ยังพอทันครับแต่คุณต้องเก็บเงินหรือลงทุนเพิ่มในแต่ละปีด้วยครับ
ถ้าคุณจะเกษียณที่อายุ60และอยากมีไลฟ์สไตล์เหมือนปัจจุบัน
เดือนละ20,000บาท หรือปีละ240,000บาท
ตอนเกษียณที่อายุ 60 คุณต้องมีเงิน 9,347,800บาท
ระยะเวลา15ปีก่อนเกษียณคาดหวังผลตอบแทน 8%
ปีแรกคุณลงทุน 240,000บาท ปี2ลงทุนเพิ่มเป็น252,000บาท ปี3เป็น 264,600บาท
คือเก็บเพิ่มทุกปีๆละ5% ตามการเติบโตของรายได้ไปทุกปีจนถึงวันเกษียณ
ครบอายุ 60ปี คุณจะมีเงิน 10,740,108บาท
ซึ่งคุณจะถอนเงินมาใช้ได้ปีละ 373,912บาท
และถอนเพิ่มได้อีกปีละ3% ไปเรื่อยๆจนถึงอายุ85ปี
สำหรับผลตอบแทนคาดหวัง8% ในช่วงเวลาลงทุนประมาณ15ปี
เครื่องมือการเงินที่น่าจะทำให้คุณไปถึงเป้าหมายได้
ก็น่าจะเป็นพวกกองทุนรวมผสมที่มีทั้งหุ้นและตราสารหนี้
เช่นกองทุนรวมที่กำหนดสัดส่วนสินทรัพย์ลงทุนแน่นอน
เช่นกองที่ชื่อลงท้ายว่า70/30 พวกนี้ครับ
ซึ่งความหมาย70/30หมายถึง
กองทุนนี้ที่ลงทุนในหุ้น70% และตราสารหนี้30%
พอเห็นแนวทางในการวางแผนเกษียณกันแล้วนะครับ
แต่จากประสบการณ์ของผม ผมพบว่าโอกาสที่ผู้คนที่ได้วางแผนแล้ว
จะไปสู่เป้าหมายที่วางไว้มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆครับ
ไม่ว่าคุณจะเก่งในการลงทุนเพียงใด
หาผลตอบแทนได้สูงกว่าที่คาดหวังได้มากมาย
คนจำนวนมากที่เป็นแบบนี้ก็ยังมีโอกาสไปถึงเป้าหมายได้ไม่ง่าย
เพราะอะไรครับ ก็เพราะการวางแผนเกษียณเป็นเรื่องระยะยาว
กว่าะถึงวันเกษียณหลายๆคนอาจล้มเลิก หรือก็ลงทุนบ้างไม่ลงทุนบ้าง
ผมมีข้อแนะนำเพิ่มเติมที่จะช่วยคุณเพิ่มโอกาสที่คุณจะมีเงินยามเกษียณครับ
ผมอยากแนะนำให้คุณเลือกเครื่องมือการเงินที่ช่วยสร้างวินัยในการออมและการลงทุน
เช่นหากที่ทำงานคุณมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ผมก็อยากแนะนำให้คุณเข้าร่วม และถ้าที่ทำงานคุณให้เลือกการหักเงินสะสม
ผมแนะนำให้เลือกหักสูงสุดครับ เมื่อหักคุณเท่าไรนายจ้างจะช่วยคุณสมทบด้วย
ซึ่งทุกๆเดือนคุณจะถูกหักเงินเข้าบัญชีการลงทุนเพื่อเกษียณ
แต่ถ้าคุณไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ผมก็อยากแนะนำให้คุณไปที่ธนาคารหรือบริษัทที่ขายกองทุน
ให้เขาทำการหักบัญชีเงินฝากของคุณ
นำเงินไปลงทุนในLTF RMFหรือกองทุนรวมที่คุณเลือกทุกๆเดือน
ซึ่งนอกจากจะสร้างวินัยในการออมและการลงทุนแล้ว
ยังช่วยคุณให้ลดความเสี่ยงจากการลงทุน
ทำให้คุณได้ราคาเฉลี่ยไม่ว่าราคากองทุนนั้นจะเพิ่มหรือลด
คุณจะได้ประโยชน์ทั้งหมดครับ
อ่านบทความถึงตรงนี้แล้ว มันจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยนะครับ
ถ้าคุณไม่เริ่มต้นเดี๋ยวนี้ เกษียณยังไงๆมันก็มาถึงแน่นอนครับเริ่มเลย