หากวันนี้คุณขาดรายได้
คุณจะมีเงินพอที่จะอยู่ได้กี่เดือนครับ
ผมมักจะถามคำถามนี้กับน้องๆ
ที่อยากเข้ามาทำงานเป็นที่ปรึกษาการเงินกับผม
งานที่ปรึกษาการเงินรายได้มาจาก
คอมมิชชั่นของสินค้าการเงินที่ใช้ในการวางแผน
และค่าธรรมเนียมในการจัดทำแผนการเงิน
ตอนเริ่มงานใหม่ๆ
ก็เหมือนกับกำลังเริ่มต้นสร้างธุรกิจของตัวเอง
ตลาดยังไม่เป็นที่รู้จัก ความสามารถยังไม่มากพอ
การมีรายได้จึงไม่สม่ำเสมอ
บางเดือนมาก บางเดือนน้อย
การทำงานนี้แล้วต้องกังวลกับการที่ต้องมีรายได้เร็วๆ
สำหรับค่าใช้จ่ายและภาระที่มีอยู่
ทำให้ทำงานได้ไม่ดีพอ
ก็เหมือนกับคนที่กำลังออกมา
ทำธุรกิจของตัวเองทั่วไป
หรือแม้แต่คนที่ทำงานมีรายได้ประจำครับ
ที่ควรถามคำถามนี้ก่อนในการวางแผนการเงิน
คนหลายคนชอบมาปรึกษาผมว่าจะลงทุนอะไรดี
ทำยังไงจะได้ผลตอบแทนดีๆ
พอผมถามว่าเงินที่มีสภาพคล่อง เบิกง่าย ถอนง่าย
เทียบกับค่าใช้จ่ายที่ตัวเองต้องรับผิดชอบต่อเดือน
สามารถทำให้อยู่ได้โดยไม่มีรายได้ ได้กี่เดือน
คำตอบของหลายๆคนยังมีไม่พอที่จะอยู่ได้ 3 เดือน 6 เดือนเลย
ผมจึงแนะนำว่าไปเก็บเงินตรงนี้ให้พอก่อน
ก่อนที่จะคิดถึงเรื่องลงทุนอะไรดี
เงินที่มีสภาพคล่อง 3 – 6เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนนี้
เราเรียกว่า "เงินฉุกเฉิน" หรือ Emergency Cash
เป็นเงินที่คุณต้องมีเผื่อไว้ในกรณีขาดรายได้ชั่วคราว
เช่นตกงาน เปลี่ยนงาน ที่ทำงานหยุดกิจการ
ตามหลักการคุณควรจะเตรียมไว้ให้พออย่างน้อย
ที่จะทำให้คุณอยู่ได้โดยไม่มีรายได้ 3 - 6 เดือน
แต่ก็ไม่ได้ต้องfix ว่าต้อง 3เดือน 6เดือนนะครับ
หากคุณมีแหล่งรายได้หลายๆทาง
หรืองานหรือธุรกิจคุณมั่นคงแน่นอน
คุณก็อาจเตรียมขั้นต่ำ 3เดือนได้
แต่ถ้าคุณมีแหล่งรายได้ทางเดียว
หรือเพื่อความอุ่นใจ
ก็ควรเตรียมไว้ 6เดือนเลย
แต่ถ้าเป็นงานที่อาจขาดรายได้นาน
หากมีปัญหาในงานขึ้น
เช่นนักร้อง นักแสดง นักกีฬาอาชีพ
ก็อาจต้องเตรียมมากกว่า 6เดือน
เงินก้อนนี้เก็บที่ไหนครับ
ก็ต้องเก็บในที่ๆเบิกง่าย ถอนง่าย
เช่นบัญชีฝากออมทรัพย์ ฝากประจำ
หรือกองทุนรวมตลาดเงิน
หาเงินเก็บไว้ตรงนี้ก่อนดีไหมครับ
เพราะหากมีตรงนี้แล้วจะได้อุ่นใจ
ไปทำอะไรก็ไม่ต้องกังวล
เมื่อสบายใจ จะไปทำงาน หรือลงทุน
ก็มีโอกาสสำเร็จสูงครับ