top of page
Writer's picturecharintip netiboonyanon

4 ความเข้าใจผิด ที่ทำให้แผนการเงิน ไม่มีทางสำเร็จ


เคยไหมครับ? ที่เราตั้งเป้าหมายกันแบบนี้


"ปีนี้อยากจะใช้หนี้ให้หมด อยากมีเงินเก็บ

อยากจะเริ่มลงทุน อยากรวย อยากสบาย"


เราวางแผนการเงินกันทุกปี แล้วก็ทำไม่สำเร็จซักที วันนี้ผมคัดมาให้ 4 เรื่องครับ ที่หากเราไม่เข้าใจให้ถูกต้อง แผนการเงินของเรา ไม่มีทางสำเร็จได้เลย


#1วางแผนว่าจะรวย แผนนี้คลาสสิกมากครับ เรามีแผนนี้กันทุกคน การวางแผนว่าจะรวยไม่ผิดครับ แต่ความรวยของคุณจำเป็นต้อง "จับต้องได้ " ว่าแค่ไหนถึงรวย?


การตั้งเป้าหมายแค่ว่า "อยากรวย" ก็เหมือนคุณตั้งเป้าว่าสักวันจะไปเที่ยวภาคเหนือ แต่ไม่รู้จะไปจังหวัดไหน? ไปเมื่อไหร่? เดินทางยังไง? สรุปสุดท้าย คือ ไม่ได้ไปครับ


เปลี่ยนจากการตั้งเป้าเลื่อนลอยว่าอยากรวย เป็นเป้าที่มีกำหนดตัวเลขให้ชัดเจนครับ เช่น ปีนี้อยากมีเงินเก็บ 1 แสน, ฉันจะมีเงิน 1 ล้านแรกให้ได้ภายใน 3 ปี แล้ววางแผนการเงินให้สอดคล้องกับเป้าหมายครับ ว่าจะมีแผนการเงินอย่างไร ถึงจะทำให้เป้าหมายสำเร็จ


#2ใช้หนี้ให้หมดก่อนค่อยเก็บเงิน อันนี้ก็คลาสสิกครับ โดยเฉพาะคนที่ยังมีหนี้สินอยู่เยอะ ที่มักจะเข้าใจว่าเราต้องจัดการหนี้ให้หมดก่อนเป็นอันดับแรก ถึงค่อยเริ่มเก็บเงิน แต่ที่จริงเราก็มีหนี้ตลอดครับ ถ้ารอจนถึงให้เราไม่มีหนี้เลย วันที่จะเก็บเงินคงมาไม่ถึงเสียที


#ล้มเลิกความคิดที่ว่า "ถ้าเก็บเงิน ก็ไม่พอใช้หนี้" ออกไปได้เลยครับ ถ้าคุณต้องเอาทุกบาท ทุกสตางค์ไปใช้หนี้ให้พอ แล้วไม่เหลือเงินสำหรับออมเพื่อตัวเองเลย อันนั้นเรียกว่า "ไม่พอครับ"


#สูตรง่ายๆที่ควรทำคือ ออมขึ้นก่อน 10%ของรายได้ แล้วที่เหลือค่อยใช้ จะใช้หนี้ ใช้เอง ให้ใช้หลังจากที่ออมแล้วครับ แล้วถ้าไม่พอ คือ หาเพิ่มครับ อย่าหลอกตัวเองว่ามันพอ ด้วยการใช้หนี้ทุกบาททุกสตางค์ครับ


#3เก็บๆไปก่อนเดี๋ยวก็รวยเอง อันนี้ไม่ได้ย้อนแย้งจากข้อที่แล้วนะครับ ผมยังอยากให้คุณเก็บเงินให้ได้อยู่ดี แต่การเก็บเงินมีหลายรูปแบบ ที่คุณต้อง "วางเงิน "ให้ถูกที่ ไม่อย่างนั้น ไม่มีทางรวยครับ


คุณเคยเห็นเศรษฐีคนไหน รวยขึ้นมาด้วยการฝากบัญชีออมทรัพย์หรือหยอดกระปุกบ้างมั้ยครับ ผมกล้าบอกเลยว่า "ไม่มี" ครับ โดยเฉพาะยุคนี้ การหลับหูหลับตาเก็บเงิน ไม่ได้ช่วยให้คุณรวย (ทัน) ในชาตินี้แน่นอน


เงินที่สามารถฝากออมทรัพย์ หรือ เก็บไว้ใกล้ตัวให้เบิกถอนได้สะดวก คือเงินสำรองฉุกเฉิน 3-6เท่าของรายจ่าย เท่านั้นครับ ที่คุณจะฝากBank ได้แบบไม่ต้องคาดหวังให้มันโต เพราะหน้าที่ของตะกร้านี้คือ เงินสำรองครับ แต่ถ้ามีมากกว่านั้น คุณต้องไปใส่ในตะกร้าอื่น เช่นการลงทุนแบบต่างๆ ครับ


#4เงินเฟ้อเป็นเรื่องไกลตัว หลายคนแค่ได้ยินคำว่า "เงินเฟ้อ" ก็รู้สึกว่า ไกลตัว และไม่น่าจะเกี่ยวข้องการแผนการเงินของตัวเองสักเท่าไหร่


ซึ่งเอาจริงๆ #เงินเฟ้อคือศัตรูตัวร้ายเลยครับ ที่จะทำให้แผนการเงินของคุณ อาจจะล้มไม่เป็นท่าได้เลย ผมอธิบายความหมายของ "เงินเฟ้อ" ง่ายๆแบบนี้ครับ


แบงก์ร้อย1ใบ เมื่อ20 ปีที่แล้วเราซื้อข้าวได้ 3 มื้อ (ยังมีทอนด้วย) แต่แบงก์ร้อยใบเดียวกัน ในวันนี้ ถ้าจะซื้อข้าวให้ได้ 3 มื้อ ไม่พอแล้วนะครับ

และในอีก 20 ปีข้างหน้า คุณคิดว่า แบงก์ร้อยใบเดิม จะซื้ออะไรได้บ้าง?


"เงินเฟ้อ" คือการที่ มูลค่าเงินลดลงนั่นเองครับ คุณอาจจะเห็นแบงก์ร้อย ก็ยังเป็นแบงก์ร้อยอยู่ แต่ที่ไม่อยู่ คือ มูลค่านั่นเอง เราใช้เงินซื้อของไม่ได้เยอะเท่าเดิมครั้บ ดังนั้นแผนการเงินของคุณ โดยเฉพาะแผนเกษียณ จำเป็นต้องคำนวนเรื่องเงินเฟ้อ เผื่อเข้าไปด้วยครับ


=======================

นี่คือ 4 เรื่องที่หากคุณยังมีความเข้าใจผิดแบบนี้อยู่ รีบแก้ไขนะครับ เพราะไม่อย่างนั้น เราก็จะต้องวางแผนการเงินใหม่กันทุกปี แล้วก็ไม่เคยสำเร็จสักที


64 views0 comments

Comments


bottom of page